กล้วยไม้
กล้วยไม้ เป็นอีกหนึ่งพรรณไม้ที่คนจัดสวนชอบนำไปปลูกกันบ่อย ๆ เพราะเป็นดอกไม้ที่ให้ดอกนาน มีสีสันสวยงาม แถมบางชนิดยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ด้วย ในวันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำข้อมูลน่ารู้ที่คนอยากปลูกต้นกล้วยไม้มาฝากกัน ทั้งวิธีการเลือกซื้อ ดูแล และ 10 สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยมมาให้ชมกันด้วย ไว้เป็นข้อมูลให้กับคนที่กำลังจะหาซื้อต้นกล้วยไม้มาปลูกที่บ้าน
ลักษณะของกล้วยไม้
กล้วยไม้ถูกจำแนกประเภทตามระบบราก แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวขนาดเล็กที่มีลำต้นเป็นข้อปล้องอวบน้ำ ดอกกล้วยไม้มีรูปทรง สีสัน และกลิ่นหอมที่แตกต่างกันไป
วิธีการปลูกและดูแล
วิธีการปลูกกล้วยไม้ก็ต้องพิถีพิถันกันตั้งแต่การล้างลูกกล้วยไม้ไปยันตกแต่งกล้วยไม้ให้สวยงามและสมบูรณ์ ในส่วนของการดูแลเริ่มแรกจะต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต แล้วค่อยใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพื่อเร่งผลิดอกให้สวยงาม ที่สำคัญน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้จะต้องเป็นน้ำบริสุทธิ์ไม่มีการเจือปนสารพิษใด ๆ เวลารดให้รดที่รากเพื่อให้รากดูดซึมสารอาหารให้เต็มที่ ควรจะจัดสถานที่และสภาพภูมิอากาศให้มีแสงแดดส่องสว่าง อยู่ในที่ที่มีความชื้นพอดี ปรับอุณหภูมิให้เหมาะกับสายพันธุ์
วิธีเลือกซื้อกล้วยไม้
เลือกใบที่เขียวสดไม่เหลืองช้ำและไม่มีรอยถูกตัดขาด ลำต้นต้องเป็นข้อปล้องอวบสวยงาม เลือกดอกที่บานไม่เต็มที่หรือบานเพียงแค่ประมาณ 60% เพราะมิเช่นผ่านไปไม่กี่วันมันก็จะเหี่ยวไปตามธรรมชาติ แนะนำให้ซื้อกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์มาเลี้ยง เพราะมันจะออกดอกให้ชื่นชมตลอดทั้งปี
10 พันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม
1. แคทลียา (Cattleya Orchids)
จะเรียกว่าเป็นราชินีแห่งกล้วยไม้ก็คงไม่ผิดนัก เนื่องจากแคทลียาออกดอกที่มีรูปทรงเฉพาะตัวขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม แถมบางสายพันธุ์ยังมีกลิ่นหอมชวนหลงใหลอีกด้วย เจริญเติบโตได้ดีในแถบภูมิอากาศร้อนจึงเหมาะกับการนำมาปลูกในบ้านเรามากที่สุด
2. ฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis Orchids)
ฟาแลนนอปซิส ได้ฉายาว่าเป็นกล้วยไม้ผีเสื้อกลางคืนตามชื่อภาษากรีก มีลักษณะดอกที่บานใหญ่ ใบกว้าง ลำต้นอวบเป็นปล้อง ช่อดอกยาว และเป็นกล้วยไม้ที่แข็งแรงชนิดหนึ่ง สามารถปรับตัวตามสภาพที่ต้องเผชิญได้
3. แวนด้า (Vandas)
แวนด้าถือได้เป็นพรรณไม้ดอกงามแห่งผืนป่า ถูกค้นพบในแถบเอเชียมากถึง 40 ชนิด แบ่งได้เป็นแวนด้าใบกลม แวนด้าใบแบน แวนด้าใบร่อง และแวนด้าก้างปลา แวนด้าชอบการปลูกอยู่ในกระถางโปร่งหรือตะกร้าแบบแขวนมากกว่าอยู่ในกระถางตั้งพื้น เพราะอากาศมีความจำเป็นต่อแวนด้าเป็นอย่างมาก
4. กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium)
กล้วยไม้สกุลหวายเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา ออกดอกขนาดใหญ่ ลำต้นแตกหน่อเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ ใบมีสีเขียวเข้มและหนา กลีบดอกจะซ้อนกัน 2 ชั้น และยาวพอกัน มีรากเกสรหรือเดือยดอกยาวออกมาตรงกลางดอก ที่สำคัญสายพันธุ์นี้ดูแลรักษาง่ายไม่ต้องยุ่งยากอะไรมากนัก
5. รองเท้านารี (Paphiopedilum Orchids)
รองเท้านารีมีลักษณะดอกที่เป็นจุดเด่นและคล้ายคลึงกับรองเท้าของสตรีชาวเนเธอร์แลนด์ แต่ในวงการกล้วยไม้นั้นเขาจะเรียกดอกว่า "กระเป๋า" ซึ่งบางชนิดออกดอกเดี่ยวแต่บางชนิดออกดอกเป็นช่อ ลำต้นแตกหน่อและมีขนาดสั้น รากเจริญเติบโตตามแนวราบ พบมากในแถบประเทศที่มีอากาศร้อนอย่าง อินเดีย พม่า และไทย
6. ออนซิเดียม (Oncidiums)
ออนซิเดียมเป็นไม้ดอกนำเข้า จัดว่าเป็นกล้วยไม้ขนาดใหญ่ประเภทรากกึ่งดิน ลำต้นบางชนิดมีลำลูกกล้วย ใบยาวเรียวแหลมและบางชนิดมีใบกว้าง ดอกส่วนมากจะมีสีเหลืองลายน้ำตาล ปลายปากใหญ่
7. มิลโทนอปซิส (Miltonopsis)
จุดเด่นของมิลโทนอปซิสนั้นก็คือกลิ่นหอมที่คล้ายคลึงกับน้ำหอม ออกดอกและให้สีสันสวยงาม เป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กที่เหมาะกับการปลูกเอาไว้ในบ้านเป็นอย่างมาก
8. กล้วยไม้เอื้อง (Phragmipedium Orchids)
แม้กล้วยไม้เอื้องจะเป็นที่นิยมในหมู่คนเลี้ยงกล้วยไม้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไม้ที่หาได้ง่ายและเลี้ยงง่ายมากนัก เนื่องจากสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นมาจากการผสมของกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ ขึ้นตามริมน้ำ โขดหิน และหน้าผา มีลำต้นสูง ใบเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อและมีสีส้ม ชอบที่ที่มีความชื้นเฉพาะตัว
9. โอดอนโทกลอสซัม (Odontoglossum)
กล้วยไม้สายพันธุ์มีลักษณะเด่นเฉพาะก็ตรงที่กลีบดอกเรียวแต่บานใหญ่ มีลวดลาย สีสันที่สวยงามแตกต่างกันออกไป เหมาะกับการเลี้ยงในเรือนกระจก หรือในบ้านที่มีความชื้นเพียงพอ ดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยากเท่าที่ควร
10. ซิมบิเดียม ทนร้อน (Cymbidium)
ซิมบิเดียมมี 2 ชนิดด้วยกันนั่นก็คือ เขตหนาวและเขตร้อน แต่ในที่นี้ซิมบิเดียมทนร้อนกลับเป็นที่นิยมมากกว่าเพราะเป็นกล้วยไม้ลูกผสมระหว่างซิมบิเดียมเขตร้อนกับซิมบิเดียมเขตหนาว ที่สามารถทนต่อสภาวะอากาศร้อนได้อย่างดี มีสีสันสดใส กลีบดอกแคบ และในหนึ่งช่อจะออกดอกน้อย
เชื่อกันแล้วใช่ไหมค่ะว่ากล้วยไม้เป็นพรรณไม้ดอกที่มีรูปลักษณ์ที่สวยงามเฉพาะตัวและน่าปลูกมาก ๆ เลย แต่ก่อนจะลงมือเลี้ยงกล้วยไม้ควรศึกษารายละเอียดและข้อมูลของพันธุ์ที่เราต้องการจะปลูกให้ดีเสียก่อนนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น